หมอ Med ไปเกี่ยวอะไรกับ AEC |
|
|
|
เขียนโดย Administrator
|
วันจันทร์ที่ 21 มกราคม 2013 เวลา 12:15 น. |
AEC ปี 2558 หมอ Med ไปเกี่ยวอะไรด้วย
นับถอยหลังอีกไม่ถึง 750 วัน ก็จะเข้าสู่ปีของ AEC นับตั้งแต่ พลเอก ถนัด คอมันตร์ ท่านมีวิสัยทัศน์กว้างไกลได้ก่อตั้ง กลุ่มประเทศ Asean เพื่อเป็นคานคอยกันปัญหาด้านการเมืองและกระแสเศรษฐกิจจากกลุ่มมหาอำนาจทางการเงินทั้งหลาย และพัฒนาจนเป็น AEC ในปี พ.ศ. 2558 ผลกระทบนอกจากการที่นักเรียนมัธยมปลายต้องปิดเทอมเดือน พฤษภาคม และนักศึกษาที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยเปลี่ยนเป็นเปิด ในเดือนสิงหาคม ให้เหมือนกับนานาประเทศ ผลที่กระทบตรง ๆ กับวงการแพทย์ของเราคงเป็นการที่น้องแพทย์เพิ่มพูนทักษะ หรือ intern ของเราต้องมาทำการใช้ทุนช้าไปอาจจะเลยไปถึงในเดือนกรกฎาคม แทน เดือนเมษายน ของทุกปี ระบบ training resident ต้องเปลี่ยนตามไปตามผลกระทบการใช้ทุนที่เปลี่ยนซึ่งคงเริ่มในปี พ.ศ. 2561 โน่นคือถัดไปอีก 3 ปี ทำให้มีช่องว่างสุญญากาศไปเป็นเวลา 4 เดือน คงต้องเตรียมการกันล่วงหน้าว่าใครจะทำงาน service ในช่วงนี้จะยื้อให้น้องอยู่ช่วยทำงานต่อก็จะเลยเวลาใช้ทุน 3 ปี ไปอีก 4 เดือน
แล้วหมอ med อย่างเรา ที่อยู่นอกโรงเรียนแพทย์ได้รับผลกระทบอย่างไร มันห่างไกลตัวหรือเปล่า เราได้ข่าวเป็นผลกระทบทางบวกกับการเพิ่มการนำเงินเข้าประเทศ เช่น การพัฒนาเป็น Medical hub เพื่อรองรับการเข้ารับการรักษาชาวต่างชาติมากขึ้น ทำให้มีการพัฒนามากขึ้นในภาคเอกชนที่เป็นเมืองใหญ่หรือในกรุงเทพ มากกว่า เป็นการนำเงินเข้าประเทศได้ทางหนึ่งเพราะมีผู้ป่วยต่างชาติเข้ามารักษาในประเทศไทยเพิ่มขึ้นทุกๆ ปีตามตัวเลขของกระทรวงสาธารณสุขพบว่าเข้าหลักล้านต่อปี ทำรายได้เข้าประเทศอย่างมหาศาลเป็นระดับแสนล้านทีเดียว แต่ปัญหาที่น่าคิดคือการเพิ่มความต้องการแพทย์เฉพาะทางเข้าไปสู่ระบบเอกชนส่วนกลางมากขึ้น ผลกระทบต่อแพทย์เฉพาะทางในภูมิภาคที่ยังไม่เพียงพอกระจายไปทั่วประเทศ ราชวิทยาลัยหรือคณะแพทย์คงต้องปรับแผนการรับ training ในส่วน free train ไปตามกระแสที่เปลี่ยนไป ส่วนภาครัฐโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขได้รับผลกระทบอย่างยิ่งในทางลบ กับการ freely move ของประชากรอาเซียนอย่างไม่ต้องมีพรมแดน จำนวนผู้ป่วยต่างชาติที่ไม่มีค่ารักษา ปัญหาโรคติดต่อในอดีต ทั้ง emerging , non emerging diseases การเตรียมความพร้อมในการรักษาผู้ป่วยไม่มีบัตรประกันสุขภาพที่เพิ่มขึ้น แต่ยังไม่มีการกำหนดนโยบายภาครัฐให้ครอบคลุมทั้งหมด ( ข่าวว่ารัฐบาล อนุมัติ เงินประมาณ 800 ล้านบาท ให้กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยต่างชาติที่ไม่มีเงินค่ารักษาพยาบาล 4 แสนคน คือแรงงานต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทย ) เนื่องจากตามกฎหมายแล้ว ส่วนของ สปสช. ไม่สามารถนำเงินมาจ่ายกับผู้ป่วยที่ไม่มีบัตรประชาชนของประเทศไทยได้ ความจริงแล้วภาระด้านการรักษาและค่ารักษากระทบกับโรงพยาบาลภาครัฐแน่นอน โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่ห่างไกลและแนวชายแดนทั้งหลายหรือจังหวัดที่ยังมีการจ้างแรงงานต่างชาติ จำนวนมาก
ประเทศใน AEC เองแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มคือ ประเทศที่พัฒนาแล้วระดับหนึ่งคือ ประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ที่มีระบบสาธารณสุขที่เป็นระบบที่นับว่าดีเมื่อเทียบกับประเทศข้างเคียง ประเทศที่เป็นเกาะ คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน ที่ไม่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศอื่น ๆ และกลุ่มประเทศที่ระบบสาธารณสุขต่ำกว่า เช่นประเทศเวียดนาม กัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนลาว และพม่า หรือ Myanmar ที่พึ่งเปิดประเทศไปในปีนี้เอง แต่ทางอเมริกาพยายามเรียกชื่อเดิมว่า Burma
มุมมองในการเปิด AEC ในหมอ med คงต่างออกไปแล้วแต่มาอยู่ที่ภาคเอกชน ภาครัฐอยู่ที่กระทรวงไหนสาธารณสุข มหาดไทย กลาโหม หรือ คณะแพทย์ ทำหน้าที่บริการหรือบริหารหรือวิชาการ ภาคส่วนที่มีผลกระทบทางลบมากที่สุดน่าจะเป็น หมอ med ในโรงพยาบาลรัฐที่อยู่ต่างจังหวัดที่แบกภาระงานด้านบริการหลังแอ่น พวกเราคงต้องเตรียมตัวรับสถานการณ์นี้กันครับ
ขอบคุณครับ
นายแพทย์ถนอม จิวสืบพงษ์
กรรมการบริหาร, คณะอนุกรรมการเครือข่ายอายุรแพทย์
|
แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 21 มกราคม 2013 เวลา 13:42 น. |